คำถามที่พบบ่อย
คำถาม : สหกรณ์ย่อมเลิกด้วยเหตุผลใด
คำตอบ : มี 5 เหตุแห่งการเลิก ดังนี้
(1) มีเหตุตามที่กำหนดในข้อบังคับ
(2) สหกรณ์มีจำนวนสมาชิกน้อยกว่าสิบคน
(3) ที่ประชุมใหญ่ลงมติให้เลิก
(4) ล้มละลาย
(5) นายทะเบียนสหกรณ์สั่งให้เลิกตาม มาตรา 71 แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542
มาตรา 71 นายทะเบียนสหกรณ์มีอำนาจสั่งเลิกสหกรณ์ได้เมื่อปรากฏว่า
1) สหกรณ์ไม่เริ่มดำเนินกิจการภายในหนึ่งปีนับแต่วันที่จดทะเบียนหรือหยุดดำเนินกิจการติดต่อกันเป็นเวลาสองปีนับแต่วันที่หยุดดำเนินกิจการ
2) สหกรณ์ไม่ส่งสำเนารายงานประจำปีและงบการเงินประจำปีต่อนายทะเบียนสหกรณ์เป็นเวลาสามปีติดต่อกัน
3) สหกรณ์ไม่อาจดำเนินกิจการให้เป็นผลดี หรือการดำเนินกิจการของสหกรณ์ก่อให้เกิดความเสียหาย
แก่สหกรณ์ หรือประโยชน์ส่วนรวม
คำถาม : อำนาจหน้าที่ของผู้ชำระบัญชีมีอะไรบ้าง
คำตอบ : อำนาจผู้ชำระบัญชีมีดังนี้
(1) ดำเนินกิจการของสหกรณ์เท่าที่จำเป็นเพื่อระวังรักษาผลประโยชน์ของสหกรณ์ในระหว่างที่ยังชำระบัญชีไม่เสร็จ
(2) ดำเนินกิจการของสหกรณ์เท่าที่จำเป็นเพื่อชำระสะสางกิจการให้เสร็จไปด้วยดี
(3) เรียกประชุมใหญ่
(4) ดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีแพ่งหรือคดีอาญา และประนีประนอมยอมความในเรื่องใด ๆ ในนามของสหกรณ์
(5) จำหน่ายทรัพย์สินของสหกรณ์
(6) เรียกให้สมาชิกหรือทายาทของสมาชิกผู้ตายชำระค่าหุ้นที่ยังชำระไม่ครบมูลค่าของหุ้นทั้งหมด
(7) ร้องขอต่อศาลเพื่อสั่งให้สหกรณ์ล้มละลายในกรณีที่เงินค่าหุ้นหรือเงินลงทุนได้ใช้เสร็จแล้ว แต่ทรัพย์สินก็ยังไม่เพียงพอแก่การชำระหนี้สิน
(8) ดำเนินการอย่างอื่นเท่าที่จำเป็นเพื่อให้การชำระบัญชีเสร็จสิ้น
คำถาม : หากสหกรณ์ หรือนิติบุคคล หรือประชาชน (บุคคลธรรมดา) ต้องการลดภาระค่าใช้จ่ายและระยะเวลาในการดำเนินคดี สามารถดำเนินการอย่างไรได้บ้าง
คำตอบ : การไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง เป็นอีกหนึ่งทางเลือก ที่คู่กรณีสามารถขอไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้ด้วยตนเองโดยไม่มีค่าใช้จ่ายและไม่มีค่าธรรมเนียมศาล และการไล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ใช้ระยะเวลาในการดำเนินการน้อยกว่าการฟ้องคดีต่อศาล โดยประเภทคดีที่สามารถไกล่เกลี่ยก่อนฟ้องได้ ได้แก่ ข้อพิพาททางแพ่งทุกประเภท และข้อพิพาททางอาญาที่ยอมความได้ โดยมีช่องทางดำเนินไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง ดังนี้
- ผู้ร้องเดินทางไปยื่นคำร้องขอไกล่เกลี่ยข้อพิพาทก่อนฟ้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจด้วยตนเอง
- ยื่นคำร้องทางไปรษณีย์/ผู้ให้บริการรับส่งพัสดุภัณฑ์ไปยังศาลที่มีเขตอำนาจ
- ยื่นคำร้องผ่านระบบบริการออนไลน์ศาลยุติธรรม (CIOS) โดยเข้าเว็บไซต์ http://mediation.coj.go.th
ซึ่งผลของการไกล่เกลี่ยสำเร็จ คู่กรณีตกลงกันได้และทำสัญญาประนีประนอมยอมความและศาลได้มีคำพิพากษาตามยอมแล้ว หากคู่กรณีอีกฝ่ายไม่ปฏิบัติตาม เจ้าหนี้ตามคำพิพากษาดำเนินการบังคับคดีตามคำพิพากษาตามยอมได้
คำถาม : สามารถติดต่อรับบริการงานอื่นที่เกี่ยวเนื่องในกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ณ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์ได้หรือไม่
คำตอบ : สามารถติดต่อศูนย์บริการเกษตรพิรุณราช สาขา สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์ เพื่อยื่นเรื่องรับบริการจากเราได้ ทางศูนย์ฯ จะส่งเรื่องต่อไปยังหน่วยงานที่มีความเกี่ยวข้องต่อไป การรับบริการจากศูนย์ เช่น ขอรับบริการฝนหลวง แจ้งราคาพืชผลผลิตตกต่ำ แจ้งมลพิษฝุ่นจากการเผา การตรวจสอบทะเบียนเกษตรกร
คำถาม : องค์ประชุมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปี ต้องมีสมาชิกเข้าร่วมประชุมเท่าไหร่จึงจะครบองค์ประชุม
คำตอบ : ตามมาตรา 57 ของพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 กำหนดองค์ประชุมในการประชุมใหญ่สามัญประจำปีไว้ ดังนี้
- กรณีเป็นการประชุมใหญ่โดยสมาชิก: ต้องมีสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จึงจะครบองค์ประชุม
- กรณีเป็นการประชุมใหญ่โดยผู้แทนสมาชิก: ต้องมีผู้แทนสมาชิกมาประชุมไม่น้อยกว่ากึ่งหนึ่งของจำนวนผู้แทนสมาชิกทั้งหมด หรือไม่น้อยกว่าหนึ่งร้อยคน จึงจะครบองค์ประชุม
ดังนั้น จำนวนสมาชิกที่ต้องเข้าร่วมประชุมเพื่อให้ครบองค์ประชุมจะขึ้นอยู่กับว่าสหกรณ์นั้นจัดการประชุมใหญ่ในรูปแบบใด
คำถาม : การลงคะแนนเสียงของสมาชิกในที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์ มีประเภทใดบ้าง
คำตอบ : ตามมาตรา 59 แบ่งออกเป็น 2 ประเภท ได้แก่
(1) มติเสียงข้างมาก กำหนดว่า การวินิจฉัยชี้ขาดของที่ประชุมใหญ่ให้ถือเสียงข้างมาก หากคะแนนเสียงเท่ากัน ประธานในที่ประชุมจะออกเสียงเพิ่มขึ้นอีกเสียงหนึ่งเป็นเสียงชี้ขาด
(2) มติเสียงไม่น้อยกว่าสองในสามของจำนวนสมาชิกหรือผู้แทนสมาชิกที่มาประชุม ในกรณี
- การแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ
- การควบสหกรณ์
- การแยกสหกรณ์
- การเลิกสหกรณ์
- การอื่นใดที่ข้อบังคับกำหนดให้ใช้เสียงไม่น้อยกว่าสองในสาม
คำถาม : เมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธินำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ของสมาชิกได้หรือไม่
คำตอบ : “ได้” ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 42 วรรคสอง กำหนดว่า ในระหว่างที่สมาชิกภาพของสมาชิกยังไม่สิ้นสุดลง ห้ามมิให้เจ้าหนี้ของสมาชิกใช้สิทธิเรียกร้องหรืออายัดค่าหุ้นของสมาชิกผู้นั้น และเมื่อสมาชิกภาพของสมาชิกสิ้นสุดลง สหกรณ์มีสิทธินำเงินตามมูลค่าหุ้นที่สมาชิกมีอยู่มาหักกลบลบหนี้ที่สมาชิกผูกพันต้องชำระหนี้แก่สหกรณ์ได้ และให้สหกรณ์มีฐานะเป็นเจ้าหนี้บุริมสิทธิพิเศษเหนือเงินค่าหุ้นนั้น
คำถาม : เมื่อเลิกสหกรณ์ สมาชิกสหกรณ์ที่มีหนี้กับสหกรณ์ยังต้องชำระหนี้อยู่ไหม
คำตอบ : “ยังต้องชำระหนี้” เนื่องด้วยหลังจากเลิกสหกรณ์จะมีการตั้งแต่งผู้ชำระบัญชีขึ้น ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 และแก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 75 และตามมาตรา 81 (4) ผู้ชำระบัญชีมีอำนาจหน้าที่ดำเนินการทั้งปวงเกี่ยวกับคดีแพ่งหรือคดีอาญา และประนีประนอมยอมความในเรื่องใด ๆ ในนามของสหกรณ์
คำถาม : เหตุผลที่ต้องรายงานการใช้ประโยชน์อุปกรณ์การตลาดของสหกรณ์
คำตอบ : เหตุผลที่ต้องรายงานการใช้ประโยชน์อุปกรณ์การตลาดของสหกรณ์ 7 ข้อ ดังนี้
(1) ติดตามการใช้ทรัพยากรอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อให้มั่นใจว่าอุปกรณ์ที่ได้รับการสนับสนุนหรือจัดซื้อมา ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์สูงสุด และป้องกันการใช้งานผิดวัตถุประสงค์หรือปล่อยทิ้งไว้โดยไม่ได้ใช้งาน
(2) การตรวจสอบและบริหารจัดการงบประมาณ การได้รับงบประมาณหรือเงินสนับสนุนจากภาครัฐหรือองค์กรต่าง ๆ การรายงานช่วยให้มั่นใจว่าการใช้เงินเป็นไปตามเป้าหมาย ช่วยให้คณะกรรมการสามารถวางแผนงบประมาณสำหรับการซ่อมบำรุง หรือการจัดซื้ออุปกรณ์เพิ่มเติม
(3) สร้างความโปร่งใสและตรวจสอบได้ ลดความเสี่ยงต่อการทุจริตหรือการใช้ทรัพย์สินของสหกรณ์ในทางที่ไม่ถูกต้องและสมาชิกสามารถตรวจสอบและมั่นใจว่าทรัพย์สินของสหกรณ์ถูกใช้เพื่อประโยชน์ของส่วนรวม
(4) วางแผนพัฒนาสหกรณ์ในระยะยาว ข้อมูลจากรายงานช่วยให้สหกรณ์วิเคราะห์แนวโน้มการใช้ทรัพยากร และวางแผนปรับปรุงอุปกรณ์หรือโครงสร้างพื้นฐานให้เหมาะสม และสนับสนุนการตัดสินใจลงทุนในอุปกรณ์ใหม่ ๆ ที่จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพการตลาด
(5) เป็นหลักฐานสำหรับการขอรับการสนับสนุนเพิ่มเติม หน่วยงานภาครัฐหรือองค์กรที่สนับสนุนสหกรณ์มักต้องการข้อมูลการใช้ประโยชน์ของอุปกรณ์ก่อนอนุมัติเงินทุนเพิ่มเติม หากสหกรณ์สามารถแสดงให้เห็นว่าอุปกรณ์ที่ได้รับมาถูกใช้ให้เกิดผลดี อาจได้รับการสนับสนุนในอนาคต
(6) ป้องกันการเสื่อมสภาพและการสูญหายของอุปกรณ์
(7) ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสมาชิก
คำถาม : สำนักงานสหกรณ์จังหวัด มีอำนาจหน้าที่อะไร
คำตอบ : สหกรณ์จังหวัด เป็นหน่วยงานระดับจังหวัดที่อยู่ภายใต้ กรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยมีหน้าที่หลักในการกำกับ ดูแล และสนับสนุนการดำเนินงานของสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่ที่รับผิดชอบ ดังต่อไปนี้
(1) ดำเนินการเกี่ยวกับงานด้านกฎหมายว่าด้วยสหกรณ์ กฎหมายว่าด้วยการจัดที่ดิน เพื่อการครองชีพ และกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้อง
(2) ส่งเสริมและพัฒนางานสหกรณ์ทุกประเภทและกลุ่มเกษตรกร
(3) ส่งเสริม เผยแพร่ และให้ความรู้เกี่ยวกับอุดมการณ์ หลักการ และวิธีการสหกรณ์ ให้แก่บุคลากรสหกรณ์ กลุ่มเกษตรกร และประชาชนทั่วไป
(4) ส่งเสริมพัฒนาธุรกิจสหกรณ์และกลุ่มเกษตรกร
(5) ปฏิบัติงานร่วมกับหรือสนับสนุนการปฏิบัติงานของหน่วยงานอื่นที่เกี่ยวข้องหรือที่ได้รับมอบหมาย
ที่มา : กฎกระทรวงแบ่งส่วนราชการกรมส่งเสริมสหกรณ์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ พ.ศ. 2557 ลงวันที่ 19 ธันวาคม 2557
คำถาม : หนี้สหกรณ์ตกถึงลูกหรือไม่
คำตอบ : เมื่อเจาะลึกลงไปก็พบรายละเอียดของ ป.พ.พ. มาตรา 1601 ระบุว่า ทายาทไม่จำต้องรับผิดเกินกว่าทรัพย์มรดกที่ตกทอดได้แก่ตน หมายความว่า เมื่อพ่อแม่เสียชีวิต เจ้าหนี้ ไม่ว่าจะเป็น ธนาคาร สินเชื่อ บัตรเครดิต หรือเงินกู้สหกรณ์ต่างๆ สามารถส่งหนังสือขอให้ทายาทใช้หนี้แทนลูกหนี้ที่เสียชีวิตได้ สำหรับกรณีที่ได้รับมรดกมาทายาทจะต้องหักมรดกให้กับเจ้าหนี้ตามจำนวนหนี้จริง
คำถาม : สมาชิกสหกรณ์มีสิทธิอะไรบ้าง
คำตอบ : สิทธิของสมาชิกมีดังนี้
(1) เข้าร่วมประชุมใหญ่ เพื่อเสนอความคิดเห็นหรือออกเสียงลงคะแนน
(2) เข้าชื่อเรียกประชุมใหญ่วิสามัญ
(3) เสนอหรือได้รับเลือกเป็นกรรมการดําเนินการสหกรณ์หรือผู้ตรวจสอบกิจการสหกรณ์
(4) ได้รับบริการทางธุรกิจและทางวิชาการจากสหกรณ์
(5) สิทธิอื่น ๆ ที่กําหนดไว้ในข้อบังคับและระเบียบของสหกรณ์
คำถาม : สหกรณ์ในประเทศไทย มีทั้งหมด กี่ประเภท
คำตอบ : ประเภทสหกรณ์ในประเทศไทย ตาม พระราชบัญญัติสหกรณ์ (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2562 แบ่งออกเป็น 7 ประเภท ดังนี้
(1) สหกรณ์การเกษตร
(2) สหกรณ์ประมง
(3) สหกรณ์นิคม
(4) สหกรณ์ร้านค้า
(5) สหกรณ์บริการ
(6) สหกรณ์ออมทรัพย์
(7) สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน
(8) สหกรณ์อื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง
คำถาม : การจดทะเบียนสหกรณ์ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ สามารถไปจดทะเบียนสหกรณ์ที่ใด และใช้เวลานานเท่าใด
คำตอบ : การจดทะเบียนสหกรณ์สามารถไปจดได้ที่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์ เลขที่ 794 หมู่ 10 ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000 โดยใช้เวลาในการจดทะเบียนสหกรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ 15 วันทำการ
คำถาม : การจดทะเบียนกลุ่มเกษตรกรในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ สามารถไปจดทะเบียนกลุ่มเกษตรที่ใด และใช้เวลานานเท่าใด
คำตอบ : การจดทะเบียนสหกรณ์สามารถไปจดได้ที่ สำนักงานสหกรณ์จังหวัดนครสวรรค์ เลขที่ 794 หมู่ 10 ตำบลนครสวรรค์ตก อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ 60000 โดยใช้เวลาในการจดทะเบียนสหกรณ์จนเสร็จสมบูรณ์ 12 วันทำการ
คำถาม : การดำเนินการจัดตั้งสหกรณ์มีวิธีการดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : การขอจดทะเบียนจัดตั้งสหกรณ์จะต้องปฏิบัติเป็นไปตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 ประกอบระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยวิธีดำเนินการขอจัดตั้งสหกรณ์ พ.ศ. 2547 ต้องมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจและสังคมของบรรดาสมาชิก โดยวิธีช่วยตนเองและช่วยเหลือซึ่งกันและกันตามหลักการสหกรณ์ มีความเป็นไปได้ทางธุรกิจ และผู้ขอจัดตั้งต้องปฏิบัติตามขั้นตอนการจัดตั้งสหกรณ์
คำถาม : สหกรณ์ร้านค้ากำหนดวัตถุประสงค์ให้ส่งเสริมและเพิ่มช่องทางการจำหน่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของสมาชิก แต่ตามกฎกระทรวงฯ ในส่วนวัตถุประสงค์ของสหกรณ์การเกษตรไม่มีข้อดังกล่าว หากสหกรณ์การเกษตรจะดำเนินการจำหน่ายสินค้าหรือผลิตภัณฑ์ของสมาชิกสามารถกระทำได้หรือไม่
คำตอบ : กฎกระทรวงฯ ข้อ 9 (5) สหกรณ์การเกษตรมีขอบเขตแห่งการดำเนินกิจการเพื่อรวบรวมผลิตผลทางการเกษตร ผลิตภัณฑ์และบริการของสมาชิกเพื่อจัดการขาย หรือแปรรูปออกขาย โดยซื้อหรือรวบรวมผลิตผล จากสมาชิกก่อนผู้อื่น ดังนั้น สหกรณ์การเกษตรสามารถดำเนินการรวบรวมสินค้า ผลิตภัณฑ์และบริการของสมาชิกมาจัดจำหน่ายได้
คำถาม : หากสหกรณ์ไม่ได้ดำเนินการแก้ไขข้อบังคับภายในวันที่กฎกระทรวงมีผลใช้บังคับ (21 พฤศจิกายน 2568) จะมีผลอย่างไร
คำตอบ : เมื่อกฎกระทรวงมีผลบังคับใช้แล้วสหกรณ์มิได้แก้ไขข้อบังคับให้เป็นไปตามกฎกระทรวงฯ ถือเป็นข้อบกพร่องของสหกรณ์ที่ต้องดำเนินการแก้ไข และเป็นอำนาจนายทะเบียนสหกรณ์ตามมาตรา 22 (1) แห่งพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ. 2542 และที่แก้ไขเพิ่มเติม ออกคำสั่งให้คณะกรรมการดำเนินการสหกรณ์แก้ไขข้อบกพร่อง
คำถาม : ใครสามารถกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้บ้าง และต้องดำเนินการอย่างไร
คำตอบ : สหกรณ์ทุกประเภทสามารถยื่นกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้ และให้ยื่นรายงานคำขอกู้ต่อสำนักงานสหกรณ์จังหวัดที่สหกรณ์นั้นตั้งอยู่ ผ่านเจ้าหน้าที่ส่งเสริมสหกรณ์แต่ละแห่ง เพื่อพิจารณาตามหลักเกณฑ์ในกรณีที่เห็นสมควรให้กู้ยืม ให้เสนอผู้มีอำนาจพิจารณาอนุญาตต่อไป
โดยมีรายงานคำขอกู้ ดังนี้
(1) แบบคำขอกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์
(2) งบทดลอง ณ วันสิ้นเดือน ก่อนรายงานขอกู้
(3) งบดุล และงบกำไรขาดทุนปีก่อนที่ยื่นคำขอกู้ เว้นแต่สหกรณ์ปิดบัญชีไม่แล้วเสร็จให้ใช้งบการเงินก่อนหน้านั้น 1 ปี
(4) สำเนารายงานการประชุมของคณะกรรมการดำขนินการ ครั้งที่มีมติขอกู้เงิน
(5) สำเนารายงานการประชุมใหญ่ครั้งที่มีมติให้ลงทุนในทรัพย์สิน
(6) ประมาณการค่าลงทุน พร้อมใบเสนอราคา ประมาณการรายใด้ -ค่าใช้จ่าย และแบบแปลนการก่อสร้างที่มีวิศวกรรับรอง (รายการที่ 5-6 ใช้ในกรณีกู้เพื่อลงทุนในทรัพย์สิน)
ฉะนั้น บุคคลธรรมดา เกษตรกร องค์กรที่ไม่ได้จัดตั้งตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ ไม่สามารถกู้เงินกองทุนพัฒนาสหกรณ์ได้
คำถาม : สหกรณ์จะยื่นขอความเห็นชอบกำหนดวงเงินการกู้ยืมต่อนายทะเบียนสหกรณ์ จะต้องยื่นเอกสารหลักฐานใดประกอบบ้าง
คำตอบ : สหกรณ์ต้องจดส่งเอกสาร 5 รายการ ดังนี้
(1) หนังสือขอความเห็นชอบกำหนดวงเงินการกู้ยืมของสหกรณ์ที่เสนอต่อนายทะเบียนสหกรณ์
(2) สำเนารายงานการประชุมใหญ่ของสหกรณ์ ครั้งที่มีมติให้ความเห็นชอบกำหนดวงเงินการกู้ยืมของสหกรณ์
(3) งบการเงินประจำปีของปีทางบัญชีปัจจุบันซึ่งผ่านการตรวจสอบและแสดงความเห็นจากผู้สอบบัญชีแล้ว หรือรายงานประจำปี และงบทดลอง ณ วันสิ้นเดือนสุดท้ายก่อนวันประชุมใหญ่ ยกเว้นสหกรณ์ที่จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ในปีแรก ให้ใช้เฉพาะงบทดลอง ณ วันสิ้นเดือนสุดท้ายก่อนวันประชุมใหญ่
(4) เอกสารประกอบการพิจารณาที่เกี่ยวข้องในแต่ละกรณี ดังนี้
(4.1) กรณีสหกรณ์จดทะเบียนจัดตั้งใหม่ ให้ยื่นแผนการจัดหาเงินทุนมาดำเนินงานที่กำหนดไว้ตามแผนดำเนินการเกี่ยวกับธุรกิจหรือกิจกรรมของสหกรณ์ที่จะจัดตั้ง สำหรับสหกรณ์ที่มีการทบทวนหรือปรับปรุงแผนดำเนินการฯ ให้แนบสำเนารายงานการประชุมใหญ่ครั้งที่มีมติเห็นชอบ พร้อมทั้งแผนดำเนินการฯ ที่ปรับปรุงแล้ว
(4.2) กรณีสหกรณ์จะเข้าร่วมโครงการตามนโยบายของรัฐบาล ให้แนบสำเนารายงานการประชุมใหญ่หรือรายงานการประชุมคณะกรรมการดำเนินการ ครั้งที่มีมติอนุมัติให้กำหนดวงเงินการกู้ยืมเกินกว่าหลักเกณฑ์การพิจารณาทั่วไป พร้อมด้วยโครงการที่จะเข้าร่วม แผนการดำเนินงานและแผนจัดหาและใช้เงินทุน ซึ่งจะต้องระบุระยะเวลาในการเข้าร่วมโครงการให้ชัดเจน
(5) ประธานกรรมการหรือผู้ปฏิบัติหน้าที่แทนประธานกรรมการลงนามกำกับเอกสารหลักฐานทุกแผ่น
ทั้งนี้ ให้ถือว่าสหกรณ์ได้รับรองเอกสาร และหลักฐานดังกล่าวที่ยื่นต่อนายทะเบียนสหกรณ์เป็นความจริงและถูกต้องทุกประการ
คำถาม : สหกรณ์มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม สามารถจ่ายคืนค่าหุ้นได้หรือไม่
คำตอบ : ตามระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ ว่าด้วยหลักเกณฑ์การจ่ายคืนค่าหุ้นกรณีสหกรณ์ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม หรือสหกรณ์ที่มีแนวโน้มขาดทุนสะสม พ.ศ. 2566 การกำหนดระเบียบนายทะเบียนสหกรณ์ฯ ขึ้นถือใช้ เพื่อคุ้มครองให้สหกรณ์สามารถดำเนินกิจการ ได้อย่างเป็นปกติ ในสภาวะขาดทุนสะสมหรือมีแนวโน้มขาดทุนสะสม และป้องกันการแห่ลาออก ซึ่งจะส่งผล กระทบต่อการบริหารกิจการของสหกรณ์ จึงให้สหกรณ์ชะลอการจ่ายคืนค่าหุ้นแก่สมาชิกในระหว่างปีบัญชีจนกว่าจะปิดบัญชีประจำปี
การจ่ายคืนค่าหุ้นในระหว่างปีบัญชีของสหกรณ์ที่มีผลการดำเนินงานขาดทุนสะสม หรือสหกรณ์ ที่มีแนวโน้มขาดทุนสะสมให้แก่สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพหรือผู้ที่มีสิทธิได้รับคืนค่าหุ้น ให้ใช้มูลค่าต่อหุ้นที่คำนวณได้ โดยนำสินทรัพย์ทั้งสิ้นหักหนี้สินทั้งสิ้น แล้วหาร ด้วยจำนวนหุ้นทั้งสิ้นที่ชำระเต็มมูลค่าแล้วโดยจะจ่ายได้หลังจากวันสิ้นปีทางบัญชีสหกรณ์ในปีที่ขาดจากสมาชิกภาพและที่ประชุมใหญ่ได้อนุมัติงบการเงินประจำปีแล้วกรณีสหกรณ์คำนวณมูลค่าต่อหุ้นแล้วพบว่า มูลค่าต่อหุ้นเป็นศูนย์ หรือติดลบ สมาชิกที่ขาดจากสมาชิกภาพในขณะนั้น จะได้รับคืนค่าหุ้นที่มีมูลค่าเท่ากับศูนย์ หรือไม่ได้รับเงินค่าหุ้นคืน สหกรณ์ใด งบการเงินได้รับการตรวจสอบและแสดงความเห็นว่างบการเงินนั้นไม่ถูกต้องหรือไม่แสดงความเห็น หรืองบการเงินไม่ได้รับอนุมัติจากที่ประชุมใหญ่ของสหกรณ์จะไม่สามารถจ่ายคืนค่าหุ้นแก่สมาชิกได้
คำถาม : การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ จัดสรรเป็นทุนอะไรบ้าง
คำตอบ : ตามพระราชบัญญัติสหกรณ์ พ.ศ.2542 มาตรา 60 การจัดสรรกำไรสุทธิประจำปีของสหกรณ์ให้จัดสรรเป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่าร้อยละสิบของกำไรสุทธิ และเป็นค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทยตามอัตราที่กำหนดในกฎกระทรวง แต่ต้องไม่เกินร้อยละห้าของกำไรสุทธิ
กำไรสุทธิประจำปีที่เหลือจาการจัดสรรเป็นทุนสำรองและค่าบำรุงสันนิบาตสหกรณ์แห่งประเทศไทย ที่ประชุมใหญ่อาจจัดสรรได้ภายใต้ข้อบังคับ ดังต่อไปนี้
(1) จ่ายเป็นเงินปันผลตามหุ้นที่ชำระแล้ว แต่ต้องไม่เกินอันตราที่กำหนดในกฎกระทรวงสำหรับสหกรณ์แต่ละประเภท
(2) จ่ายเป็นเงินเฉลี่ยคืนให้แก่สมาชิกตามส่วนธุรกิจที่สมาชิกได้ทำไว้กับสหกรณ์ในระหว่างปี
(3) จ่ายเป็นเงินโบนัสแก่กรรมการและเจ้าหน้าที่ของสหกรณ์ไม่เกินร้อยละสิบของกำไรสุทธิ
(4) จ่ายเป็นทุนสะสมไว้ เพื่อดำเนินการอย่างหนึ่งอย่างใดของสหกรณ์ที่กำหนดในข้อบังคับ